ข่าวสารไวรัสโคโรน่า..ตระหนักแต่ต้องไม่ตระหนก

Last updated: 31 ม.ค. 2563  |  1144 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ข่าวสารไวรัสโคโรน่า..ตระหนักแต่ต้องไม่ตระหนก

กรมสุขภาพจิตมีคำแนะนำการติดตามข่าวสารไวรัสโคโรน่า

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึง กรณีการพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในมากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก และก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อประชาชนไทยว่า ขณะนี้บุคลากรด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกำลังปฎิบัติงานอย่างสุดความสามารถ เพื่อป้องกันการระบาดในประเทศไทยและเพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของเชื้อสายพันธ์ใหม่ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด เช่น เชื้อไวรัสโรคซาร์ส (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS) ทั้งยังได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในศักยภาพการควบคุมการระบาดของโรคต่างๆ

ข่าวลือ ข่าวปลอมระบาดหนัก

ทั้งนี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อมูลต่อสื่อสารมวลชนเพื่อเผยแพร่ว่า "กรมสุขภาพจิต ได้ทำการติดตามและประเมินข้อมูลข่าวสารที่มีการเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะในช่องทางโซเชียลมีเดีย พบข้อมูลที่จัดอยู่ในประเภทข่าวลือและข่าวปลอม ได้รับการเผยแพร่เป็นจำนวนมาก ทั้งข่าวลือเกี่ยวกับการระบาดภายในประเทศ และข่าวปลอมเกี่ยวกับวิธีการรักษารูปแบบต่างๆที่ผิดเพี้ยนไปจากคำแนะนำที่ถูกต้องของผู้เชี่ยวชาญ โดยการกระจายตัวของข่าวลือและข่าวปลอมในวงกว้างลักษณะนี้ จะส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่สามารถปฎิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นำผู้คนไปสู่ความกลัวและวิตกกังวลอย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญได้เบียดบังพื้นที่การนำเสนอข่าวจริงที่เป็นประโยชน์ในการดูแลตัวเองของประชาชน"

ข่าวลือ ข่าวปลอมทางโซเชียลมีเดีย และการแชร์ของผู้คนในสังคมขณะนี้ระบาดหนักพอๆกับข่าวสารไวรัสโคโรน่า ดังนั้น การติดตามข่าวสารอย่างมีสติ จะทำให้เราๆท่านๆรับและเสพข่าวสารอย่างมีความตระหนัก (ในโรคระบาดที่มีอยู่) และไม่ตระหนก (นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตต่อจากโรคระบาดได้)

ตระหนักได้แต่ต้องไม่ตระหนก

การติดตามข่าวสารโดยเฉพาะเรื่องโรคระบาดที่กำลังเป็นข่าวอยู่นี้เป็นเรื่องดี เพื่อการป้องกันตนเอง แต่ต้องพอประมาณ ซึ่งเรื่องนี้อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า “ขอย้ำแนวทาง ตระหนักแต่ไม่ตระหนก คือ ประชาชนต้องตระหนักถึงสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา โดยหมั่นล้างมือให้สะอาด ปิดปากและจมูกเวลาไอจาม หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้มีอาการ ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนเสมอ สวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อสัมผัสสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม แต่ไม่ตระหนกจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ลดการเสพข่าวที่มาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือซึ่งอาจสร้างความตื่นตระหนก ไม่ส่งต่อและไม่แชร์ข้อความที่ดูเกินจริงและไม่ได้รับการยืนยัน และควรติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขทางช่องทางต่างๆอย่างใกล้ชิด”

มีปัญหาเช่นไร หากภาวะตระหนกมีมากจนถึงขั้นเเจ็บป่วยทางจิตเวช มาทำความรู้จักโรคทางจิตเวช (ที่อาจจะตามจากโรคระบาด) ดังนี้ค่ะ

โรคแพนิค หรือบางคนอาจเรียกว่า โรคตื่นตระหนก

เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีมานานแล้ว และพบไม่น้อยเลย แต่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จัก แม้กระทั่งเมื่อเป็นโรค ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิด อาจไม่ทราบด้วยว่า อาการที่ผู้ป่วยแสดงออกนั้น เป็นอาการของโรคแพนิคที่รักษาได้ค่ะ

ลองสังเกตตัวเราเอง หรือคนใกล้ชิด หากเกิดความวิตกกังวลรุนแรงจนถึงขั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อาจจะพบปัญหาดังต่อไปนี้ อาทิ

1. อยู่ดีๆไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ก็เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อแตก ตัวสั่น รู้สึกหายใจไม่อิ่ม หายใจขัดข้อง ไม่สบายท้อง ปั่นป่วนในท้อง วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม อาการเกิดขึ้นประมาณ 15 – 20 นาทีแล้วค่อยๆหายไป

2. เกิดความรู้สึกว่าเรากำลังจะเป็นอะไรไปรึเปล่า บางคนรู้สึกเหมือนเราไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บางคนคิดว่าเรากำลังมีอาการของโรคหัวใจและกำลังจะตายรึเปล่า

3. บางคนอาจพยายามโทรหาคนที่ใกล้ชิดเพื่อให้พาไปโรงพยาบาล แต่พอไปถึงโรงพยาบาลแพทย์ตรวจดูกลับไม่พบความผิดปกติอะไร หัวใจเต้นเป็นปกติดี ยิ่งทำให้งงไปกันใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้น พอกลับบ้านมาไม่กี่วันก็มีอาการแบบเดิมอีก

4. บางคนไม่กล้าอยู่คนเดียวเพราะกลัวว่าจะมีอาการขึ้นมาอีก แล้วถ้าเป็นอะไรไปจะไม่มีใครช่วยได้…

โรคนี้มักเกิดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นและสามารถเกิดร่วมกับโรคอื่นได้ เช่น โรคซึมเศร้า สาเหตุของโรคนี้เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (automatic nervous system) ทำงานผิดปกติไป ถ้าจะเปรียบเหมือนรถยนต์ก็เรียกได้ว่าเครื่องยนต์กำลังทำงานรวนไป เนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติควบคุมการทำงานของร่างกายในหลายส่วน อาการที่เกิดขึ้นจึงเกิดหลายอย่างพร้อมกันทั้งการเต้นของหัวใจ การหายใจ การออกของเหงื่อ ฯลฯ การทำงานของระบบดังกล่าวต้องอาศัยสารเคมีในสมองเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการทำงาน

การรักษา

การรักษาที่ได้ผลดีและตรงกับสาเหตุก็คือการรับประทานยา เพื่อช่วยปรับสมดุลการทำงานของสารเคมีในสมองดังกล่าว อาการเหล่านี้ก็จะหายไปได้ นอกจากนี้การดูแลจัดการกับตัวเองเมื่อมีอาการก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการบอกกับตัวเองว่า เราไม่ได้เป็นอะไรมากนะ ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ไม่ได้กำลังจะตาย เราแค่มีอาการแพนิกกำเริบ สักพักอาหารเหล่านี้ก็จะหายไปเอง หายใจเข้าออกลึกๆสักพักหรือใช้เทคนิกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
 

แหล่งข้อมูลโรคแพนิกและรูปภาพ

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1159

https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=687

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:3D_medical_animation_corona_virus.jpg

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้